ชีวิตนักสู้ในอเมริกา(ตอนที่1)

ทางเพจ IgetFarang ได้รับเกียรติเผยแพร่เรื่องราวบทความจากประสบการณ์ชีวิตหญิงไทยหัวใจแกร่ง หรือนักสู้ในอเมริกา ของคุณ บุ๋ม ศิริวรรณ เจริญพีระเสถียร มาเผยแพร่ เพื่อให้เป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจ แก่สาวไทยหลายๆคน ที่กำลังท้อแท้หรือประสบปัญหาต่างๆในชีวิต โดยเฉพาะสาวไทยในต่างแดน เรามารู้จักกับเธอผ่านเรื่องราวชีวประวัติส่วนตัวในวัยเยาว์ ด้วยบทความ ชีวิตนักสู้ในอเมริกา (ตอนที่1) และ เรื่องราวชีวิตหญิงไทยในต่างแดน ด้วยบทความ ชีวิตนักสู้ในอเมริกา (ตอนที่2)

บทความจาก คุณบุ๋ม Credit by Facebook : Boommar Siriwan

เขียนโดย : ร.ต.ท.หญิง ศิริวรรณ เจริญพีระเสถียร อดีตรองสารวัตรกองตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

งานเขียนชิ้นแรกของฉันที่เขียนลงในเพจล่ามฯ เมื่อกลางปี2017 ได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับหลายๆ คนที่กำลังท้อแท้ ฉันเขียนบทความนี้ขึ้นในฐานะลูกจากครอบครัวที่ยากจน ในฐานะแม่ที่สูญเสียลูกสาวที่น่ารักไป ในฐานะเมียที่สูญเสียสามีเพราะโรคมะเร็ง และในฐานะผู้หญิงไทยที่มาดิ้นรนสู้ชีวิตในต่างแดน
———————————————

ชีวิตนักสู้ในวัยเยาว์

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะดำเนินชีวิตและไขว่คว้าไปในทางที่ถูกต้องเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เราหวัง อย่างสุภาษิตที่ฉันเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่า “ความจนไม่เคยอยู่ในหมู่คนขยัน” อันนี้จริงค่ะ ถ้าเราไม่ได้เกิดมาจากตระกูลหรือครอบครัวที่มีฐานะหรือมีพร้อมให้เราทุกอย่าง เราก็ต้องทำงานหนัก ขยัน และอดทนกว่าคนที่เขามีทุนมาตั้งแต่เกิด และที่สำคัญ เราต้องมีใจที่จะเรียนรู้แบบไม่หยุดนิ่งด้วย

บทความที่ตีพิมพ์​ในนิตยสาร​เรื่องเล่าจากล่าม

บางครั้งชีวิตในวัยเด็กที่เราไม่เคยฝันว่าเราจะมาถึงจุดหนึ่งของชีวิตได้อย่างเช่นทุกวันนี้ แต่ทุกอย่างมักจะมาจากความไม่แน่นอนและนอกเหนือจากความคาดคิดเสมอ ซึ่งมันก็เหมือนกับชีวิตของฉัน จากเด็กบ้านนอก สถานะทางครอบครัวเรียกได้ว่า “จน” กลายมาเป็นพยาบาลและล่ามในอเมริกา กว่าจะมาถึงวันนี้ ชีวิตของฉันก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่มันโรยไปด้วยหนามกุหลาบมากกว่า ฉันผ่านมาทั้งความเจ็บปวด ล้มเหลว หมดหวัง คิดแม้แต่จะฆ่าตัวตาย และสุดท้ายฉันคิดว่าฉันประสบความสำเร็จขั้นหนึ่งของชีวิตแล้ว ฉันสามารถเอาชนะใจตัวเองได้โดยไม่คิดอะไรแบบสั้นๆ ทุกคนจึงเห็นฉันในวันนี้ จะบอกว่ามันไม่ง่ายเลย แต่มันสามารถเป็นไปได้ ไม่ว่ากับฉันหรือกับทุกคน

แค่เพียงคุณให้ความสำคัญและให้เวลากับสิ่งที่จะนำคุณไปถึงเป้าหมาย อย่ายอมแพ้ต่ออุปสรรค รู้จักรักและให้กำลังใจตัวเองให้มาก ฉันจึงอยากแชร์ประสบการณ์ชีวิตของฉันบางส่วนให้ทุกคนได้อ่านและเก็บไปเป็นข้อคิด ว่าชีวิตในวัยเด็กจนถึงทุกวันนี้ ฉันผ่านอะไรมาบ้าง ต้องต่อสู้ชีวิตมาแบบไหน ประสบความสำเร็จและความล้มเหลวอะไรมาบ้าง จุดไหนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตฉัน และอะไรที่ทำให้ฉันมาถึงจุดนี้ได้ จำไว้ว่า “It’s not easy but it’s possible.”

บ้านที่ยากจนและพี่น้องห้าคน

ดิฉันมีพี่น้องห้าคน เป็นลูกสาวคนที่สี่ เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยความที่ฐานะครอบครัวที่บ้านจน พ่อและแม่ของฉันได้พาพวกเราห้าพี่น้องอพยพไปอยู่จังหวัดนราธิวาส ตามพระราชดำริแบ่งปันที่ทำกินสำหรับผู้ยากไร้ ที่เราไปอยู่นั้นอยู่ในถิ่นที่แสนจะกันดาร ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีถนนดี ๆ ไม่มีโรงพยาบาลหรือหมอ ไม่มีแม้แต่โรงเรียน นาน ๆ ที พวกเรา (เด็กๆ ในหมู่บ้าน) จะเห็นมอเตอร์ไซด์ขับผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน พวกเราจะวิ่งตามท้ายรถมอเตอร์ไซด์และส่งเสียงร้องด้วยความตื่นเต้นและสนุกสนาน เราสูดและหายใจเอากลิ่นควันรถเข้าไปเต็มปอด เพราะคิดว่ามันเป็นกลิ่นที่แสนจะวิเศษ และเราไม่ได้มีโอกาสสัมผัสง่ายๆ ในตอนนั้น โดยที่เราไม่รู้เลยว่าเราได้สูดเอาควันพิษเข้าไป เรามีความสุขกับสิ่งที่เรามี เรามีรองเท้ายางเก่าๆ ถ้ามันขาดเราก็ซ่อมใส่ เสื้อผ้ากางเกงก็ใส่ของเหลือจากพี่ ๆ เราไม่มีโทรทัศน์ ตู้เย็น และน้ำปะปาใช้ แต่พวกเราก็มีความสุข เพราะเราไม่เคยเปรียบเทียบชีวิตเรากับโลกภายนอก เพราะสิ่งที่เราเห็นก็มีอยู่แค่นี้เอง

ตอนฉันเริ่มเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ พ่อและแม่ของฉันได้พาพวกเราไปอยู่ในตัวเมือง ที่ ๆ เราอาศัยอยู่ก็คือสลัมที่อยู่หลังสถานีรถไฟ แต่นั่นมันคือวิมานของพวกเราเพราะเราได้เห็นรถไฟ รถยนต์ มอเตอร์ไซด์ ตึกรามบ้านช่อง และเราได้ยินเสียงรถไฟดังอย่างต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน โดยที่เราไม่รู้สึกรำคาญเลย มันกลับเป็นเหมือนเสียงเพลงกล่อมพวกเรามากกว่า

ฉันเริ่มทำงานตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ฉันตื่นไปทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ได้รับเงินเป็นค่าจ้างวันละ ๑๐ บาท ฉันจึงรู้จักใช้เงินอย่างประหยัด เก็บหอมรอมริบและทำงานเป็นตั้งแต่เด็กโดยที่ไม่ต้องให้พ่อแม่มาบอก ตอนที่ฉันอายุแปดขวบ นอกจากมีหน้าที่ไปโรงเรียนแล้ว ตอนเย็นกลับบ้านฉันก็ช่วยแม่ทำงานบ้านสารพัด วันหยุด วันเสาร์และอาทิตย์ ฉันก็จะออก ไปรับจ้าง เพราะฉันทำงานแล้วได้เงินฉันจึงชอบที่จะทำงาน

พ่อและแม่ของฉันพาพวกเราอพยพกลับไปอยู่อุบลราชธานีตอนฉันขึ้นมัธยมปีที่ ๑ เพราะพ่อของฉันเป็นอัมพฤตครึ่งตัว ไม่สามารถทำงานได้ ฉันเริ่มที่จะไปออกไปทำงานรับจ้างเพื่อช่วยแม่ของฉัน จนฉันเรียน จบชั้นมัธยมปีที ๓ หลังจากนั้นฉันได้สอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยอาชีวะศึกษาอุบลราชธานีในสาขาบริหารธุรกิจ พ่อและแม่ฉันไม่มีเงินส่งให้ฉันเรียนต่อ ฉันจึงต้องรับจ้างทำงานส่งเสียตัวเองเพื่อที่จะเป็นภาระของครอบครัวให้น้อยที่สุด ปิดเทอมหน้าร้อน ฉันก็จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ กับคนในหมู่บ้าน เพื่อมาทำงานก่อสร้างและเก็บเงินไปเรียนต่อ แน่นอนที่ๆ ฉันพักก็คงจะไม่พ้นสลัมดีๆนี่เอง

ตำรวจสาววัย๑๘

พอฉันจบการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวะศึกษาและได้รับใบประกาศนียบัตรสาขาการบัญชี ฉันได้สอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการเป็นตำรวจชั้นประทวน และแล้วฉันสอบผ่าน และถูกบรรจุแต่งตั้ง ฉันดีใจมาก เพราะฉันได้เป็นตำรวจตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี มันโก้มาก ๆ ยิ่งกว่าถูกหวยเป็นล้านเลยล่ะในตอนนั้น แต่เงินเดือนที่ฉันได้รับมันน้อยมาก ฉันต้องส่งเสียงตัวเองเรียนหนังสือต่อในระดับปริญญาตรี ช่วยน้องชายที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ ส่งเงินให้พ่อและแม่ ค่ากินและค่าใช้จ่ายอีกมากมายสรุปแล้ว ฉันก็ต้องหางานเสริมอีกนั่นแหละ

วันจันทร์ – วันศุกร์ ฉันเป็นตำรวจ วันเสาร์และอาทิตย์ฉันไปขายของที่ตลาดนัดจตุจักร (เฮ้ย ชีวิตฉันเมื่อไหร่จะสบายแบบคนอื่นเขาบ้างนะ) และฉันเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะค่าเทอมไม่แพงมาก จัดเวลาเรียนเองได้โดยทีไม่ต้องไปนั่งเรียนทุกวัน เวลาไปสอบทีก็สนุกจะตาย เพราะฉันต้องขึ้นรถเมล์ ระหว่างทางก็ลุ้นไปว่าจะโดนกรีดกระเป๋าหรือเปล่า จะโดนพวกโรคจิตจับตูดมั้ย บางทีฉันก็เดินทางโดยเรือ ยิ่งสนุกใหญ่ กลิ่นควันจากเรือและน้ำเน่าคลองแสนแสบ ทำให้ฉันเมาได้ยิ่งกว่ากินเหล้า ๔๐ ดีกรี ซะอีก แต่นักศึกษาที่จบมาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้วส่วนใหญ่ก็มีคุณภาพเหมือนฉันนี่ไง สถาบันดีช่วยผลิตคนที่มีคุณภาพ แต่คนที่มีคุณภาพก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถาบันเพียงอย่างเดียว (ใช่มั้ยคะ)

หลังจากที่ฉันจบการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรระดับปริญญาตรีในสาขาบริหารรัฐศาสตร์ ฉันก็สอบแข่งขันกับคนทั้งประเทศ (ประมาณเกือบแสนคน แต่รับบรรจุแต่งตั้งแค่ ๑๙๐ ตำแหน่ง) เพื่อบรรจุเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรในส่วนของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ในที่สุด ฉันก็ผ่านด่านอรหันต์และติดหนึ่งในบรรดาผู้เก่งกล้า ได้เข้าอบรมในโรงเรียนเส้าหลินที่หลายคนใฝ่ฝันอยากจะมีโอกาสเข้าเรียน คือ โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานยังไงล่ะ พอจบมาฉันก็ได้ติดยศเป็น ร้อยตำรวจตรีหญิง (โก้มากไปกว่าเดิมเลยล่ะ คุณว่ามั้ย) ด้วยความที่ตำแหน่งสูงขึ้นและทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีเบี้ยเลี้ยงและเงินสนับสนุนอย่างอื่นให้ (ก็หลายบาทอยู่) ฐานะทางการเงินของฉันก็ดีขึ้นมาทันที

ขอต่ออีกนิดนึงนะ ตอนสมัยสาวๆ ฉันเป็นคนหน้าตาดี เคยมีคนรวยมาเสนอให้ฉันเป็นอีหนูหรือเมียน้อย แต่ฉันเลือกที่จะกินศักดิ์ศรีทนใส้กิ่ว ดีกว่าจะไปเป็นผีสิงตามบ้านน้อยรอคอยส่วนบุญหรือเศษเงินของเสี่ยๆ ฉันถึงลำบากอยู่นี่งัย แต่ฉันก็ภูมิใจนะที่ฉันหากินด้วยลำแข้ง ไม่ได้หากินด้วยที่นาผืนน้อยที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด อันนี้นานาจิตตังนะคะ ไม่ได้ว่าให้ใคร ใครใคร่ค้า ๆ ใครใคร่ขาย ๆ เพราะคนเรามีทางเลือกและความจำเป็นต่างกันออกไป

เป็นไงค่ะ ทั้งสนุกและเข้มข้นใช่ไหม แต่ผู้หญิงหัวใจแกร่งคนนี้ยังมีเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตที่สุดแสนจะโหดร้ายเข้ามาท้าทายความแข็งแกร่งของเธอ ที่คุณอาจคาดไม่ถึง ให้ติดตามตอนต่อไปที่ “ชีวิตนักสู้ในอเมริกา (ตอนที่2)”

แชร์ต่อไป

เพิ่มความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น